หน่วยที่ 1 : กฎหมาย
กฎหมาย
หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhyxMiamnPuVvC_6QwqXFthjk8q8NhwsL7rWjMD0-4AyahOuVuVakt_bxwgyTJ1d_IH5Bjy7IKtdp9anUiaYi7souyzfG-YqDxkcLD_GITmAYgOCpL1l1uFV9hwxaJIt51A89Y2aQbakeo/s320/images+%25285%2529.jpg)
ความสำคัญของกฎหมาย
1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม
2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม
4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhpiqiiSfalvyTpXYAm4N2qiRFGiP9I9CKE5Lt9bwCTijo0qwIvJ9-NjwVJ5tKO57pSjXaYcQsFsaMB5KaYe_OyU4TmYMMZe1y9Jk4mLW06wbAu1BhovluotR3ScCqEBeA14ZxfV60DnOA/s320/images+%25282%2529.jpg)
องค์ประกอบของกฎหมาย
1. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ
2. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ
3. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี 2 ประเภท คือ
-บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
-บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
4. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม
การแบ่งประเภทของกฏหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฏหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฏหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. กฏหมายระหว่างประเทศ กฏหมายระหว่างประเทศ เป็นกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฏหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฏหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น
2. กฏหมายภายในประเทศ เป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฏหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฏหมายเอกชน
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiJNlz7d8p_i-CtlC2OGDurI6LEqnFFcGz6mlMKay3IzMividlLVVrHpLm3J2kCQZeC4eMRgbXzByuGlHGjUGHQO1txF4YOOIwgn9QThrjvE70uh52g23XENEcTL2OYVjiHz5O2AS53r2Y/s320/images+%25283%2529.jpg)
กฏหมายมหาชน หมายถึง กฏหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฏหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
1.รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ
2.กฏหมายปกครอง เป็นกฏหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฏหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ
3.กฏหมายอาญา เป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฏหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
4.กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฏหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล
5.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด
กฏหมายเอกชน เป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่ให้บุคคลสามารถรักษาและป้องกันสิทธิมิให้ถูกละเมิดจากบุคคลอื่น เช่น กฏหมายเกี่ยวกับสัญญา การสมรส มรดก กฏหมายเอกชนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1.กฏหมายแพ่ง เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชน เช่น ความมีสภาพเป็นบุคคล ครอบครัว มรดก นิติกรรม เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันแล้ว ไม่กระทบคนส่วนใหญ่ ลักษณะการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
2.กฏหมายพาณิชย์ เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประกอบการค้าและธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน การประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะของกฏหมายจึงต่างจากกฏหมายแพ่ง
3.กฏหมายพิจารณาความแพ่ง เป็นกฏหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ใช้ในการดำเนินคดีเมื่อเกิดคดีความทางแพ่ง
สำหรับประเทศไทย ได้รวมกฏหมายแพ่งและกฏหมายพาณิชย์ไว้เป็นฉบับเดียวกัน เรียกว่า ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEg1jXdMozDezsI2T2B3gGf18n5zvx0q8hs2rHIp0X-GhFbRvVRv0ZyBNZ2z75CVoxGlD3HKbZBgww6bmR6gkDsjsanpsFT9zgBJdLKN6s01UF5n1b8MXUTy6jxx7CA4XUaLZxntysk5Pu0/s320/images+%25284%2529.jpg)
ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบ ยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลยมักมีผู้เรียก "รัฐธรรมนูญ" ว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" พึงทราบว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" (Constitutional Law) นั้นเป็นคำเรียกสาขาวิชาทางนิติศาสตร์และเรียกกฎหมายมหาชนแขนงหนึ่งซึ่งว่าด้วยการวางระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง ส่วน "รัฐธรรมนูญ" (Constitution) นั้นคือกฎหมายจริง ๆ ฉบับหนึ่งซึ่งจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายชนิดนี้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติในประเทศไทย และมีศักดิ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติ แต่มีวิธีการตราที่พิสดารกว่าพระราชบัญญัติเนื่องเพราะเป็นกฎหมายที่อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกฎหมายที่ถือได้ว่าคลอดออกมาจากท้องของรัฐธรรมนูญโดยตรง องค์กรที่มีหน้าที่ตรากฎหมายสองประเภทนี้ได้แก่รัฐสภา
พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประการใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสุดสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดาการที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น
พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด เปรียบเสมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่อธิบายขยายความในรัฐธรรมนูญ
กฎองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นและใช้บังคับภายในเขตอำนาจของตน ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา เนื่องจากอำนาจในการตรากฎหมายประเภทนี้ได้รับมาจากพระราชบัญญัติ โดยทั่วไปจึงถือว่ากฎองค์การบัญญัติมีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ชั่วแต่ว่าใช้บังคับภายในเขตใดเขตหนึ่งเป็นการทั่วไปเท่านั้น
กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกาเพราะศักดิ์ของผู้ตราต่างกัน
"เมื่อพระราชกฤษฎีกากับกฎกระทรวงมีความใกล้เคียงกันมาก ข้อที่พิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างกันว่าควรจะออกกฎหมายในรูปพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อหาของกฎหมายที่ต้องการบัญญัตินั้นมีความสำคัญเพียงใด ซึ่งหากมีความสำคัญเป็นอย่างมากจะออกมาในรูปของพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีความสำคัญน้อยกว่าก็ออกในรูปของกฎกระทรวง"
ผลการจัดศักดิ์ของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าหรือตามที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้
2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายศักดิ์สูงกว่า จะออกมาโดยมีเนื้อหาเกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้เลย
3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่านั้น
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEj9LiczwXi2UocYzWv7Fogaq_vnU3dQx6xU5-_nkPGPmpNrhbAVCQTKT5h7waXRAB3xWb3jqbGttucLOEVij0AZe78adE_-SuYz7xTnQfiJTd1EoiT3U5lCsJ3ClO3ws_14dQt9JdXL-Bs/s320/level_law.jpg)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น